คู่มือการรักษาด้วยไฟฟ้า

การรักษาด้วยไฟฟ้า หรือ Electroconvulsive Therapy หรือเรียกสั้นๆ ว่า ECT เป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก ซึ่งจะส่งผลให้อาการทางจิตดีขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ คือ การทำ ECT เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้สารสื่อนำประสาทภายในสมองที่หลั่งผิดปกติได้กลับมาทำงานโดยสม่ำเสมอ เมื่อสารสื่อนำประสาทหลั่งอย่างต่อเนื่องดีแล้วกระบวนการทำงานทางจิต รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมต่างๆ ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ

ข้อดีของการรักษาด้วยไฟฟ้า จะช่วยให้อาการทางจิตของผู้ป่วยทุเลาอย่างรวดเร็ว สามารถคงสภาพไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ การรักษาด้วยไฟฟ้าจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงมีความจำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วนเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้สงบลง เช่น ผู้ป่วยก้าวร้าวรุนแรง มีอาการคลุ้มคลั่ง หรือผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงที่มีความคิดฆ่าตัวตายตลอดเวลาหรือมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากผู้ป่วยจิตเวชที่จำเป็นต้องให้การรักษาแบบเร่งด่วนแล้ว การรักษาด้วยไฟฟ้าสามารถรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเช่น ผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ หรือผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงของยาได้ ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกพิจารณาให้รักษาด้วยไฟฟ้าจะต้องเข้ารับการรักษาประมาณ 6-12 ครั้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จำนวนครั้งและความถี่ในการรักษาด้วยไฟฟ้าอาจมากน้อยแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินผลการรักษาและพิจารณายุติการรักษาด้วยไฟฟ้าเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือพบความเสี่ยงที่ไม่อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้าต่อไปได้ อาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยไฟฟ้ามีตั้งแต่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่สบายตัว สับสน สูญเสียความจำชั่วคราว บางรายมีผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจทำให้กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรืออาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคทางกายร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การปฏิบัติตัวในการรักษาด้วยไฟฟ้า

1.การเตรียมตัวก่อนทำการรักษาล่วงหน้า 1 วัน โดย

  • ทำความสะอาดร่างกาย สระผม ตัดเล็บให้สั้น ไม่ทาเล็บมือ-เล็บเท้า
  • งดน้ำ งดอาหารหลังเที่ยงคืนจนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ในขณะเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า
  • ให้สวมเสื้อผ้าสะอาด ผมแห้ง ไม่ทาแป้งบริเวณใบหน้า ไม่สวมเครื่องประดับใดๆ
  • หากมีภาวะความดันโลหิตสูง จิตแพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันในเวลา 06.00 น. และดื่มน้ำได้ไม่เกิน 30-60 ซีซี
  • ถอดฟันปลอม หากมีปัญหาฟันผุ ฟันโยกต้องแจ้งพยาบาลก่อนเสมอ
  • ปัสสาวะก่อนทำการรักษา

2.การปฏิบัติตัวหลังการรักษา หากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น

  • ปวดศีรษะ ให้ประคบเย็นแล้วนอนพัก 30 นาที – 2ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถทานยาบรรเทาปวดได้
  • หากปวดเมื่อยจากการเกร็งกล้ามเนื้อ ให้ประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือนวดเบาๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • หากมีภาวะหลงลืม ให้ญาติช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วย ความทรงจำจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายในระยะเวลา 2สัปดาห์ – 6 เดือน

การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีการรักษาที่จำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ถ้าเปรียบเทียบกับวิธีการรักษาตามแนวทางของโรคฝ่ายกาย การรักษาด้วยไฟฟ้าก็เปรียบเสมือนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเล็กในโรคทางฝ่ายกายนั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วแพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องมุ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยและพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจให้การรักษาเสมอ

Cadit : https://www.honestdocs.co/ect-to-reverse-symptoms-of-mental-illness

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Page Reader Press Enter to Read Page Content Out Loud Press Enter to Pause or Restart Reading Page Content Out Loud Press Enter to Stop Reading Page Content Out Loud Screen Reader Support