โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 โดยได้จัดทำเป็นระเบียบปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลฯ ดังนี้
ข้อมูลข่าวสารทั่วไป
เช่น ข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาลฯ การให้บริการตรวจรักษา แผนปฏิบัติงาน การประกาศต่างๆ เช่นการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารได้ดังนี้
1. ติดต่อที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารโดยตรง ชั้น 2 อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ ในวันและเวลาราชการ
2. ทางเว็บไซด์ของโรงพยาบาลฯ (www.jvkorat.go.th)
3. ทางโทรศัพท์ หมายเลข 044-233999
4. เอกสารประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล
กรณีติดต่อโดยตรง
1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
2. กรอกแบบฟอร์มการขอเข้าตรวจดูข้อมูล
3. กรณีต้องการสำเนาข้อมูล
– เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารดำเนินการสำเนาข้อมูลและรับรองสำเนา
– ผู้ขอข้อมูลชำระค่าใช้จ่ายในการสำเนาข้อมูลตามที่จ่ายจริง
4. กรณีไม่สามารถสำเนาข้อมูลให้ได้ทันที ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารนัดหมายการมารับข้อมูล
ข้อมูลที่เปิดเผยเป็นการเฉพาะ ได้แก่ ประวัติผู้ป่วยให้ผู้มีสิทธิ์ติดต่อโดยตรง ดังนี้
– กรณีเป็นผู้ป่วยนอก ติดต่อที่ฝ่ายเวชระเบียนชั้น 1 อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ
– กรณีเป็นผู้ป่วยใน ติดต่อที่หอผู้ป่วยที่รับไว้รักษา
วิธีปฏิบัติในการเปิดเผย
1. กรณีเกี่ยวข้องกับคดี
1.1 กรณีผู้ป่วยหรือญาติหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ได้แก่ผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลหรือผู้ปกครอง มาติดต่อหรือมาตรวจเอง โดยไม่มีหนังสือการขอประวัติการตรวจรักษาและหรือการขอความเห็นของแพทย์จากตำรวจหรือศาล
1) กรณีผู้ป่วยมาติดต่อด้วยตนเอง ให้ยื่นบัตรประจำตัวผู้รับบริการของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ (ถ้ามี) บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการหรือบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานของรัฐพร้อมทั้งสำเนาบัตรและเซ็นรับรองแนบกับชุดประวัติผู้ป่วย
2) กรณีผู้ป่วยไม่มาติดต่อด้วยตนเอง ผู้มีสิทธิ์ต้องยื่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการหรือบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานของรัฐ และหนังสือมอบอำนาจจากผู้ป่วยให้ดำเนินการแทน หรือหนังสือรับรองการเป็นผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล พร้อมทั้งสำเนาบัตรและเซ็นรับรอง
3) ผู้ป่วยหรือญาติ ติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดประสานงานกลาง(หน้าห้องตรวจของแพทย์) เพื่อเขียนใบคำร้อง
4) แพทย์เจ้าของไข้พิจารณาการออกเอกสารตามหลักเกณฑ์โดยการสรุปประวัติการรักษา และมอบหมายให้ผู้มีหน้าที่ดำเนินการต่อตามระเบียบงานสารบรรณของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชั้นของคดี
5) กรณีมาตรวจ ดำเนินการเช่นเดียวกับการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป และโรงพยาบาลดำเนินการออกเอกสารแบบเดียวกับการมาขอประวัติ
หมายเหตุ : แพทย์จะออกเอกสารให้หลังจากที่ โรงพยาบาลฯ ได้รับหนังสือยืนยันการมีคดี ซึ่งผู้ป่วยหรือญาติต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นเจ้าของคดีให้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อขอสำเนาประวัติการตรวจรักษาหรือสรุปประวัติการตรวจรักษา
1.2 กรณีศาล หรือ พนักงานสอบสวนส่งหรือนำผู้ป่วยมารับการตรวจโดยมีหนังสือนำส่งรวมทั้งการขอประวัติการตรวจรักษาและ/หรือการขอความเห็นของแพทย์
1) กรณีมาขอเอกสาร ผู้มีสิทธิ์ ติดต่อที่ห้องเวชระเบียน และยื่นหลักฐานเพื่อตรวจสอบการมีสิทธิ์ เช่นเดียวกับกรณีที่ 1.1 เพื่อดำเนินการให้แพทย์พิจารณาออกเอกสารตามระเบียบต่อไป ในกรณีต้องการเอกสารเร่งด่วนโรงพยาบาลฯจะประสานไปยัง ศาลหรือพนักงานสอบสวนโดยตรง เกี่ยวกับวิธีการจัดส่งเอกสาร
2) กรณีนำผู้ป่วยมาตรวจ ดำเนินการแบบเดียวกับการตรวจผู้ป่วยทั่วไปและการขอเอกสารรับรอง
1.3 กรณีศาลหรือพนักงานสอบสวน ขอทราบประวัติหรือผลของการตรวจรักษา โดยไม่ส่งผู้ป่วยมาตรวจ
1) ส่งหนังสือลงนามโดยผู้มีอำนาจถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
2) โรงพยาบาลฯ ดำเนินการส่งประวัติตามที่ขอทางระบบเอกสาร ตามระเบียบสารบรรณ
1.4 กรณีทนายความของผู้ป่วยมาขอประวัติการตรวจรักษาและหรือการขอความเห็นของแพทย์
1) ผู้มาขอประวัติต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และบัตรสมาชิกสภาทนายความพร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
2) มีหนังสือยินยอมจากผู้ป่วยโดยต้องแสดง กรณีผู้ป่วยที่ไร้ความสามารถต้องมีหนังสือรับรอง หรือญาติมาแสดงหรือไม่ ต้องการรับรองการเป็นผู้ปกครองจากเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น เช่น กำนัน/ ผู้ใหญ่บ้าน/นายกเทศมนตรี/ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เอกสารประกอบด้วย
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือบัตรข้าราชการบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ บัตรพนักงานของรัฐ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
– บัตรประจำตัวผู้ป่วยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ (ถ้ามี)
– แพทย์พิจารณาการออกเอกสารตามระเบียบ
1.5 กรณีที่มีผู้ถือหมายศาลมาส่งให้กับโรงพยาบาลฯ โดยตรง ให้บุคคลนั้นนำส่งที่งานธุรการ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
1.6 กรณีผู้ป่วยที่ผู้มีอำนาจดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีอำนาจดำเนินการแทนในกรณี
1) เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลหรือผู้ปกครอง ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ บัตรเจ้าหน้าที่ขอรัฐ พนักงานของรัฐพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และหนังสือรับรองการเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล
หรือผู้ปกครอง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง เช่นเดียวกัน
2) ผู้ป่วยถึงแก่กรรม ให้ผู้มีสิทธิ์ดังต่อไปนี้ ดำเนินการแทน
1. ผู้มีชื่อตามพินัยกรรม ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาเซ็นรับรอง
2. กรณีไม่มีพินัยกรรม ให้ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย แสดงบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านหรือทะเบียนสมรสในกรณีเป็นคู่สมรสของผู้ป่วย พร้อมสำเนาเซ็นรับรอง
หมายเหตุ : ผู้ที่สามารถขอข้อมูลได้ เรียงตามลำดับดังนี้
1. บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม
2. คู่สมรส
3. บิดาหรือมารดา
4. ผู้สืบสันดาน (บุตร หรือ หลาน หรือ เหลน หรือ โหลน และถัดไป)
5. พี่น้องร่วมบิดา มารดา
6. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
2. เกี่ยวกับการประกันชีวิต
2.1 ตัวแทนประกันชีวิตขอทราบประวัติการรักษาดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีทนายความ ในบางกรณีอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ที่อาจจำเป็นต้องตรวจก็ให้นำผู้ป่วยมารับการตรวจด้วย
2.2 ผู้เอาประกันชีวิตขอใบรับรองแพทย์
1) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือบัตรข้าราชการบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ บัตรพนักงานของรัฐ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
2) เขียนใบคำร้องขอใบรับรองแพทย์ตามแบบฟอร์ม
3. การขอใบรับรองแพทย์ (ไม่เกี่ยวข้องกับคดี)
3.1 ใบรับรองแพทย์ เพื่อสมัครงาน
1) ผู้ป่วยหรือผู้มีสิทธิดำเนินการแทน เขียนใบคำร้องตามแบบฟอร์ม เพื่อให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามขั้นตอน (โรงพยาบาลได้มอบอำนาจให้แพทย์ผู้ตรวจมีอำนาจอนุญาต)
2) แพทย์ดำเนินการตรวจ พิจารณาออกใบรับรองแพทย์
3.2 ใบรับรองของแพทย์ กรณีการลา
1) ผู้มาขอเขียนใบคำร้อง ตามแบบฟอร์ม เพื่อให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามขั้นตอนปกติ (โรงพยาบาลได้มอบอำนาจให้แพทย์ผู้ตรวจมีอำนาจอนุญาต)
2) แพทย์ดำเนินการตรวจและพิจารณาออกใบรับรองของแพทย์
3.3 ใบรับรองแพทย์ กรณีการเกณฑ์ทหาร
1) ต้องนำผู้ป่วยมาตรวจและมีหนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลทหาร
2) ผู้ป่วยหรือญาติเขียนใบคำร้องตามแบบฟอร์ม
3) แพทย์ดำเนินการตรวจและพิจารณาออกใบรับรองแพทย์
4. การขอประวัติเพื่อการรักษา (ไม่เกี่ยวข้องกับคดี)
4.1 ต้องมีหนังสือจากหน่วยงานตามระบบราชการ โดยแพทย์เป็นผู้สรุปประวัติการรักษาให้ งดการถ่ายเอกสาร
4.2 ในกรณีส่งเอกสารการขอประวัติการรักษามาทางไปรษณีย์ ให้ปฏิบัติตามระบบงานธุรการ
4.3 ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินที่มีการขอประวัติการรักษาทางโทรศัพท์จากโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข ให้หัวหน้าหอผู้ป่วยนอกหรือผู้รับผิดชอบตรวจสอบกลับไปยังโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขนั้น ๆและบันทึกรายงานแพทย์ในเวชระเบียน เพื่อให้แพทย์พิจารณาให้ข้อมูล
4.4 ในกรณีที่บิดาหรือมารดา ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ปกครองมาขอประวัติ ให้นำสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวบิดามารดา ผู้พิทักษ์ผู้อนุบาล ผู้ปกครอง (พร้อมเอกสารรับรองการเป็นผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ปกครอง) และบัตรประจำตัวผู้ป่วยมาแสดง โดยเซ็นรับรองสำเนา
4.5 กรณีผู้อุปการะหรือผู้ปกครองให้นำเอกสารดังต่อไปนี้
1) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้อุปการะ
2) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (กรณีอายุ 15 ปีขึ้นไป)
3) บัตรประจำตัวผู้ป่วยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
4) หนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ฯลฯ ที่ประทับตรารับรองหน่วยงาน (กรณีที่มีข้อสงสัยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรอง)
5. การขอเอกสารรับรองความพิการ
1) นำผู้ป่วยมาตรวจที่โรงพยาบาลฯ ตามขั้นตอนการตรวจผู้ป่วยทั่วไป
2) โรงพยาบาลดำเนินการตรวจและออกเอกสารรับรองตามประเภทความพิการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หากผู้ป่วยไม่รับยาต่อเนื่องที่สถานบริการใกล้บ้านต้องมีหนังสือรับรองจากสถานบริการที่รับยาต่อเนื่องนั้น โดยระบุวันที่เริ่มรับยาดังปัจจุบัน การวินิจฉัยโรค และนำมายื่นที่โรงพยาบาลจิตเวชฯ เพื่อประกอบการขอเอกสารรับรองความพิการ
2. ความพิการทางสติปัญญา
3. ความพิการทางการเรียนรู้
4. ความพิการทางออทิสติก
กรณีความพิการทางสติปัญญา/ทางการเรียนรู้/ออทิสติกต้องพบแพทย์ แพทย์อาจออกเอกสารรับรองความพิการให้ได้เลยหรือแพทย์อาจส่งตรวจทางจิตวิทยา ซึ่งต้องเข้าระบบนัดของโรงพยาบาลฯ
การมาติดต่อขอประเมินเพื่อออกเอกสารรับรองการบริการสิ่งที่ต้องเตรียมมามีดังนี้
1. ญาติที่มีทะเบียนบ้านอยู่บ้านเดียวกัน
2. เอกสารบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ป่วยและญาติ
3. กรณีไม่มีญาติอยู่บ้านเดียวกัน ต้องให้ผู้นำชุมชนเซ็นรับรอง ว่าญาติที่มาด้วยคือผู้ดูแล และแนบเอกสารของผู้นำชุมชน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้องมาด้วย
6. การขอทราบประวัติ หรือ ผลการรักษาทางโทรศัพท์สำหรับประชาชนทั่วไป โรงพยาบาลฯ จะไม่ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ยกเว้นในกรณีโรงพยาบาลอื่น ต้องการขอประวัติการรักษาเพื่อเป็นการช่วยชีวิตหรือการให้บริการเร่งด่วน ให้บุคลากรของโรงพยาบาลนั้นๆ โทรศัพท์ติดต่อที่แผนกผู้ป่วยนอก โทร.0-4423-3999 ต่อ 65118
7. การขอผลตรวจทางจิตวิทยา ดำเนินการเช่นเดียวกับการขอใบรับรองแพทย์ โดยนักจิตวิทยาคลินิกเป็นผู้อนุญาต